การอ่านจับใจความสำคัญและการอ่านคิดวิเคราะห์

การอ่านจับใจความสำคัญและการอ่านคิดวิเคราะห์
ความสำคัญ

             การอ่านเป็นทักษะที่จำเป็นอย่างยิ่งต่อการศึกษาหาความรู้ และพัฒนาชีวิต ซึ่งนอกจากจะทำให้เกิด
ความรู้แล้วยังก่อให้เกิดความสนุกสนานเพลิดเพลิน และส่งเสริมให้มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ได้แนวคิดใน
 การดำเนินชีวิต การอ่านจึงเป็นหัวใจของการศึกษาทุกระดับ และเป็นเครื่องมือในการแสวงหาความรู้เรื่องต่างๆ
             การอ่านที่ดีมีประสิทธิภาพ จะต้องอ่านแล้วจับใจความได้ สรุปสาระสำคัญของเรื่องที่อ่านได้
แต่การสำรวจการประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของผู้เรียนพบว่า ปัญหาที่สำคัญในการอ่านของผู้เรียนคือ
อ่านแล้วจับใจความสำคัญไม่ได้ ไม่สามารถสรุปประเด็นได้ ไม่สามารถแยกความรู้ ข้อเท็จจริง ข้อคิดเห็น
ไม่สามารถแยกใจความสำคัญกับใจความรองได้ ทำให้ไม่ได้รับประโยชน์จากการอ่านเท่าที่ควร
ทั้งยังเป็นปัญหาอุปสรรคต่อการเรียนรู้และการศึกษาวิชาต่างๆด้วย
             หลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2544 ได้กำหนดคุณภาพของผู้เรียนด้านความเข้าใจ
ในการอ่านไว้ในช่วงชั้นเช่น ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1-3 กำหนดให้อ่านแล้ว ..เข้าใจข้อความที่อ่าน..
ช่วงชั้น 2 ชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 ..อ่านแล้วจับประเด็นสำคัญแยกข้อเท็จจริงและข้อคิดเห็น วิเคราะห์ความ
ตีความ สรุปความได้.. ช่วงชั้นที่ 3 คือมัธยมศึกษาปีที่ 1-3 อ่านแล้วแสดงความคิดเห็นเชิง วิเคราะห์
ประเมินค่าเรื่องที่อ่านอย่างมีเหตุผลและในช่วงชั้นปีที่ 4 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4-6 อ่านแล้วสามารถตีความ
แปลความ และขยายความเรื่องที่อย่างลึกซึ้ง วิเคราะห์ วิจารณ์ ประเมินค่าเรื่องที่อ่านได้.. ซึ่งผู้เรียนจะมีคุณภาพ
ดังกล่าวได้ ต้องมีความสามารถในการอ่านจับใจความและเข้าใจเรื่องราวต่างๆ จากการอ่านได้เป็นอย่างดี

ความหมาย
             การอ่านจับใจความ คือ การอ่านที่มุ่งค้นหาสาระของเรื่องหรือของหนังสือแต่ละเล่มที่เป็นส่วน
ใจความสำคัญ และส่วนขยายใจความสำคัญของเรื่อง
             ใจความสำคัญของเรื่อง คือ ข้อความที่มีสาระคลุมข้อความอื่นๆ ในย่อหน้านั้นหรือเรื่องนั้นทั้งหมด
ข้อความอื่นๆ เป็นเพียงส่วนขยายใจความสำคัญเท่านั้น ข้อความหนึ่งหรือตอนหนึ่งจะมีใจความสำคัญที่สุด
เพียงหนึ่งเดียว นอกนั้นเป็นใจความรอง คำว่าใจความสำคัญนี้ ผู้รู้ได้เรียกไว้เป็นหลายอย่าง เช่น ข้อคิดสำคัญ
ของเรื่อง แก่นของเรื่อง หรือ ความคิดหลัก ของเรื่องแต่จะเป็นอย่างไรก็ตาม ใจความสำคัญก็คือ
สิ่งที่เป็นสาระที่สำคัญที่สุดของเรื่องนั่นเอง
             ใจความสำคัญส่วนมากจะมีลักษณะเป็นประโยค ซึ่งอาจปรากฏอยู่ในส่วนใดส่วนหนึ่งของย่อหน้าก็ได้
             จุดที่พบใจความสำคัญของเรื่องในแต่ละย่อหน้ามากที่สุดคือ ประโยคที่อยู่ตอนต้นย่อหน้า
เพราะผู้เขียนมักบอกประเด็นสำคัญไว้ก่อน แล้วจึงขยายรายละเอียดให้ชัดเจน รองลงมาคือประโยคตอนท้ายย่อหน้า
โดยผู้เขียนจะบอกรายละเอียดหรือประเด็นย่อยก่อน แล้วจึงสรุปด้วยประโยคที่เป็นประเด็นไว้ภายหลัง
สำหรับจุดที่พบใจความสำคัญยากขึ้นก็คือ ประโยคตอนกลางย่อหน้า ซึ่งผู้อ่านจะต้องใช้ความ
สังเกตุและพิจารณาให้ดี ส่วนจุดที่หาใจความสำคัญยากที่สุดคือย่อหน้าที่ไม่มีประโยคใจความสำคัญปรากฏ
ชัดเจน อาจมีประโยค หรืออาจอยู่รวมๆกันในย่อหน้าก็ได้ ซึ่งผู้อ่านจะต้องสรุปออกมาเอง





แนวการอ่านจับใจความ
             การอ่านจับใจความให้บรรลุจุดประสงค์ มีแนวทางดังนี้
             1.ตั้งจุดมุ่งหมายในการอ่านได้ชัดเจน เช่น อ่านเพื่อหาความรู้ เพื่อความเพลิดพลิน หรือเพื่อบอก
เจตนาของผู้เขียน เพราะจะเป็นแนวทางกำหนดการอ่านได้อย่างเหมาะสม และจับใจความหรือคำตอบได้รวดเร็ว
ยิ่งขึ้น
             2.สำรวจส่วนประกอบของหนังสืออย่างคร่าวๆ เช่น ชื่อเรื่อง คำนำ สารบัญ คำชี้แจงการใช้หนังสือ
ภาคผนวก ฯลฯ เพราะส่วนประกอบของหนังสือจะทำให้เกิดความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องหรือหนังสือที่อ่านได้
กว้างขวางและรวดเร็ว
             3.ทำความเข้าใจลักษณะของหนังสือว่าประเภทใด เช่น สารคดี ตำรา บทความ ฯลฯ
ซึ่งจะช่วยให้มีแนวทางอ่านจับใจความสำคัญ ได้ง่าย
             4.ใช้ความสามารถทางภาษาในด้านการแปลความหมายของคำ ประโยค และข้อความต่างๆ
อย่างถูกต้องรวดเร็ว
             5.ใช้ประสบการณ์หรือภูมิหลังเกี่ยวกับเรื่องที่อ่านมาประกอบจะทำความเข้าใจและจับใจความที่อ่านได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น

ขั้นตอนการอ่านจับใจความ
             1.อ่านผ่านๆโดยตลอด เพื่อให้รู้ว่าเรื่องที่อ่านว่าด้วยเรื่องอะไร จุดใดเป็นจุดสำคัญของเรื่อง
             2.อ่านให้ละเอียด เพื่อทำความเข้าใจอย่างชัดเจน ไม่ควรหยุดอ่านระหว่างเรื่องเพราะจะทำให้ความเข้าใจไม่ติดต่อกัน
             3.อ่านซ้ำตอนที่ไม่เข้าใจ และตรวจสอบความเข้าใจบางตอนให้แน่นอนถูกต้อง
             4.เรียบเรียงใจความสำคัญของเรื่องด้วยตนเอง

การอ่านวิเคราะห์
ความสำคัญ
             การอ่านวิเคราะห์เป็นทักษะการอ่านในระดับที่สูงขึ้นกว่าการอ่านทั่วๆไป กล่าวคือ มิใช่เป็นเพียง
 การอ่านเพื่อความรู้และความเพลิดเพลินเท่านั้น แต่ยังต้องมีการวิเคราะห์สิ่งที่ผู้เขียนได้เขียนในด้านต่างๆด้วย 
          ครูควรจัดให้นักเรียนได้ฝึกทักษะการอ่านวิเคราะห์อย่างจริงจัง เพื่อนำไปสู่การสร้างความรู้ความคิด การตัดสินใจแก้ปัญหาและสร้างวิสัยทัศน์ในการดำเนินชีวิต

ความหมาย
            การอ่านเชิงวิเคราะห์เป็นการอ่านหนังสือแต่ละเล่มอย่างละเอียดให้ได้ความครบถ้วนแล้วจึงแยกแยะ
ให้ได้ว่าส่วนต่างๆนั้นมีความหมายและความสำคัญอย่างไรบ้าง แต่ละด้านสัมพันธ์กับส่วนอื่นๆ อย่างไร
วิธีอ่านแบบวิเคราะห์นี้ อาจใช้วิเคราะห์องค์ประกอบของคำและวลี การใช้คำในประโยควิเคราะห์สำนวนภาษา จุดประสงค์ของผู้แต่ง ไปจนถึงการวิเคราะห์นัยหรือเบื้องหลังการจัดทำหนังสือหรือเอกสารนั้น
             การวิเคราะห์เรื่องที่อ่านทุกชนิด สิ่งที่จะละเลยเสียมิได้ก็คือ การพิจารณาถึงการใช้ถ้อยคำสำนวนภาษาว่า
มีความเหมาะสมกับระดับ และประเภทของงานเขียนหรือไม่ เช่น ในบทสนทนาก็ไม่ควรใช้ภาษาที่เป็นแบบแผน
ควรใช้สำนวนให้เหมาะสมกับสภาพจริงหรือเหมาะ แก่กาลสมัยที่เหตุการณ์ในหนังสือนั้นเกิดขึ้น เป็นต้น ดังนั้น
การอ่านวิเคราะห์จึงต้องใช้เวลาอ่านมาก และยิ่งมีเวลาอ่านมากก็ยิ่งมีโอกาสวิเคราะห์ ได้ดีมากขึ้นการอ่านในระดับนี้ ต้องรู้จักตั้งคำถามและจัดระเบียบเรื่องราวที่อ่าน เพื่อจะได้เข้าใจเรื่องและความคิดของผู้เขียนต้องการ
  
การวิเคราะห์การอ่าน
              การวิเคราะห์การอ่านประกอบด้วย
             1.รูปแบบ
             2.กลวิธีในการประพันธ์
             3.เนื้อหาหรือเนื้อเรื่อง
             4.สำนวนภาษา

กระบวนการวิเคราะห์
             1.ดูรูปแบบของงานประพันธ์ว่าใช้รูปแบบใด อาจเป็นนิทาน บทละคร นวนิยาย เรื่องสั้นบทร้อยกรอง หรือบทควมจากหนังสือพิมพ์
             2.แยกเนื้อเรื่องออกเป็นส่วนๆ ให้เห็นว่าใครทำอะไร ที่ไหน อย่างไร เมื่อไร
             3.แยกพิจารณาแต่ละส่วนให้ละเอียดลงไปว่าประกอบกันอย่างไร หรือประกอบด้วยอะไรบ้าง
             4.พิจารณาให้เห็นว่าผู้เขียนให้กลวิธีเสนอเรื่องอย่างไร

การอ่านเชิงวิเคราะห์ในขั้นต่างๆ
             1.การอ่านวิเคราะห์คำ
              การอ่านวิเคราะห์คำ เป็นการอ่านเพื่อให้ผู้อ่านแยกแยะถ้อยคำในวลี ประโยค หรือข้อความต่างๆ
โดยสามารถบอกได้ว่า คำใดใช้อย่างไร ใช้อย่างไร ใช้ผิดความหมาย ผิดหน้าที่ไม่เหมาะสม ไม่ชัดเจนอย่างไร
ควรจะต้องหาทางแก้ไข ปรับปรุงอย่างไร เป็นต้น เช่น 
                           1.อย่าเอาไปใช้ทับกระดาษ
                           2.ที่นี่รับอัดพระ
                           3.เขาท่องเที่ยวไปทั่วพิภพ
                           4.เจ้าอาวาสวัดนี้มรณกรรมเสียแล้ว  
              2.การอ่านวิเคราะห์ประโยค
             การอ่านวิเคราะห์ประโยค เป็นการอ่านเพื่อแยกแยะประโยคต่างๆ ว่าเป็นประโยคที่ถูกต้องชัดเจนหรือไม่
ใช้ประโยคผิดไปจาก แบบแผนของภาษาอย่างไร เป็นประโยคที่ถูกต้องสมบูรณ์เพียงใดหรือไม่มีหน่วยความคิดในประโยคขาดเกินหรือไม่ เรียงลำดับความใน ประโยคที่ใช้ได้ถูกต้องชัดเจนหรือไม่ ใช้ฟุ่มเฟือยโดยไม่จำเป็นหรือใช้รูปประโยคที่สื่อความหมายไม่ชัดเจนหรือไม่ เมื่อพบข้อบกพร่องต่างๆแล้วก็สามารถแก้ไขให้ถูกต้องได้ เช่น
                          1) สุขภาพของคนไทยไม่ดีส่วนใหญ่
                          2) การแก้ปัญหาจราจรในกรุงเทพฯเกิดการจลาจล
                          3) ทุกคนย่อมประสบความสำเร็จท่ามกลางความขยันหมั่นเพียร

                          4) เขามักจะเป็นหวัดในทุกครั้งที่ฝนเริ่มตก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น